ยุคศักดินา

Posted: สิงหาคม 15, 2010 in ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น

ยุคศักดินา

วัดคิงกะกุ ในเมืองเกียวโต สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของโชกุนอะชิกะงะ โยชิมิสึในยุคมุโรมะจิ

ยุคศักดินาญี่ปุ่นเริ่มต้นจากการที่ผู้ปกครองทางการทหารเริ่มมีอำนาจขึ้น พ.ศ. 1728 หลังจากการพ่ายแพ้ของตระกูลไทระ มินะโมะโตะ โน โยริโตโมะ ได้แต่งตั้งตนเองเป็นโชกุน และสร้างรัฐบาลทหารในเมืองคะมะกุระ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคคะมะกุระซึ่งมีการปกครองแบบศักดินา แต่รัฐบาลคามากุระก็ไม่สามารถปกครองทั้งประเทศได้ เพราะพวกราชวงศ์ยังคงมีอำนาจอยู่ในเขตตะวันตก หลังจากการเสียชีวิตของโชกุนโยริโตโมะ ตระกูลโฮโจได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการให้โชกุน รัฐบาลคะมะกุระสามารถต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลใน พ.ศ. 1817 และ พ.ศ. 1824 โดยได้รับความช่วยเหลือจากพายุกามิกาเซ่ซึ่งทำให้กองทัพมองโกลประสบความเสียหายอย่างมาก[29]

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคะมะกุระก็อ่อนแอลงจากสงครามครั้งนี้ จนในที่สุดต้องสูญเสียอำนาจให้แก่จักรพรรดิโกไดโกะ ผู้ซึ่งพ่ายแพ้ต่ออาชิกางะ ทากาอุจิในเวลาต่อมาไม่นาน[30] อาชิกางะ ทากาอุจิย้ายรัฐบาลไปตั้งไว้ที่มุโรมะจิ จังหวัดเกียวโต จึงได้ชื่อว่ายุคมุโรมะจิ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 อำนาจของโชกุนเริ่มเสื่อมลงและเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น เพราะบรรดาเจ้าครองแคว้นต่างทำสู้รบเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสงครามที่เรียกว่ายุคเซงโงกุ[30]

ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 มีพ่อค้าและมิชชันนารีจากโปรตุเกสเดินทางมาถึงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเริ่มการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับโลกตะวันตก (การค้านัมบัน)

สงครามดำรงอยู่หลายสิบปี จนโอดะ โนบุนากะเอาชนะเจ้าครองแคว้นอื่นหลายคนโดยใช้เทคโนโลยีและอาวุธของยุโรปและเกือบจะรวมประเทศญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นได้แล้วเมื่อเขาถูกลอบสังหารใน พ.ศ. 2125 โทโยโทมิ ฮิเดโยชิผู้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อมาสามารถปราบปรามบ้านเมืองให้สงบลงได้ในพ.ศ. 2133 ฮิเดโยชิรุกรานคาบสมุทรเกาหลีถึง 2 ครั้ง[31] แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนเมื่อเขาเสียชีวิตลงใน พ.ศ. 2141 ญี่ปุ่นก็ถอนทัพ[32]

หลังจากฮิเดโยชิเสียชีวิต โทกุงะวะ อิเอะยะสึแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการให้แก่ลูกชายของฮิเดโยชิ โทโยโทมิ ฮิเดโยริ เพื่อที่จะได้อำนาจทางการเมืองและการทหาร อิเอะยะสึเอาชนะไดเมียวต่าง ๆ ได้ในสงครามเซะกิงะฮะระใน พ.ศ. 2143 จึงขึ้นเป็นโชกุนใน พ.ศ. 2146 และก่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่เมืองเอะโดะ ยุคเอะโดะจึงเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะได้ใช้วิธีหลายอย่าง เช่น บุเกโชฮัตโต เพื่อควบคุมไดเมียวทั้งหลาย ใน พ.ศ. 2182 รัฐบาลเริ่มนโยบายปิดประเทศและใช้นโยบายนี้อย่างไม่เข้มงวดนักต่อเนื่องถึงประมาณสองร้อยห้าสิบปี ในระหว่างนี้ ญี่ปุ่นศึกษาเทคโนโลยีตะวันตกผ่านการติดต่อกับชาวดัตช์ที่สามารถเข้ามาที่เกาะเดจิมะ (ในจังหวัดนะงะซะกิ) เท่านั้น[33] ความสงบสุขจากการปิดประเทศเป็นเวลานานทำให้ชนที่อยู่ใต้อำนาจปกครองอย่างเช่นชาวเมืองได้มีโอกาสที่จะประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาในทางของตนเอง ในยุคเอะโดะนี้ยังมีการเริ่มต้นการให้ศึกษาประชาชนเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย[34]

แต่ญี่ปุ่นก็ถูกกดดันจากประเทศตะวันตกให้เปิดประเทศอีกครั้ง ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2394 นาวาเอก (พิเศษ) แมทธิว เพอร์รี่ และเรือดำของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาบุกมาถึงญี่ปุ่นเพื่อบังคับให้เปิดประเทศด้วยสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ต้องทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันกับประเทศตะวันตกอื่น ๆ ซึ่งสนธิสัญญาเหล่านี้ทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะการเปิดประเทศและให้สิทธิพิเศษกับชาวต่างชาติทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจต่อรัฐบาลเอะโดะ และเกิดกระแสเรียกร้องให้คืนอำนาจอธิปไตยแก่องค์จักรพรรดิ (ซึ่งมักเรียกว่าการปฏิรูปเมจิ) [35] จนในที่สุดรัฐบาลเอะโดะก็หมดอำนาจลง

ใส่ความเห็น